หน้าแรกมุมสบายๆ"คาร์บอเน่"ของดีที่เกือบเลือนหายไปจากบอลอังกฤษ

“คาร์บอเน่”ของดีที่เกือบเลือนหายไปจากบอลอังกฤษ

ซึ่งไม่ได้เป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก แต่เคยฝากผลงานเอาไว้มากมายเหมือนกัน แม้จะเป็นชื่อที่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึงเลยก็ตาม เพราะไม่ได้อยู่ในความทรงจำของแฟนบอลหลายๆ คนเสียด้วยซ้ำไป

ในสมัยก่อน ศึกฟุตบอลกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี เคยได้รับการยกย่องให้เป็นลูกหนัง “เบอร์หนึ่ง” ของโลก เพราะอุดมไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีจากทั่วทุกมุมโลกอยู่แล้ว ทำให้พ่อค้าแข้งสัญชาติอิตาเลียนไม่คิดจะเดินทางไปโชว์ฝีเท้าในถิ่นต่างแดนเลย โดยหลายๆ คนมองว่าลีกลูกหนังในบ้านเกิดของตัวเองดีที่สุดอยู่แล้วนั่นเอง แต่เมื่อวันเวลาเข้าสู่ช่วงกลางยุคทศวรรษ 90 ซึ่งเป็นช่วงที่ ศึกลูกหนังพรีเมียร์ลีก อังกฤษ กำลังก่อร่างสร้างชื่อขึ้นมาเป็นลีกระดับชั้นนำของทวีปยุโรป หลังจากนั้นนักเตะจากอิตาลีได้เริ่มเดินทางออกไปโชว์ฝีเท้าในต่างประเทศกันเป็นแถว

โดยช่วงนั้นเป็นยุคที่นักเตะชาวอิตาเลียนได้เริ่มไปโชว์ฝีเท้าในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซึ่งมีพวกแข้งดังอย่าง ฟาบริซิโอ ราวาเนลลี่ ย้ายไปซบ “เดอะโบโร่” มิดเดิ้ลสโบรช์ รวมถึง 3 ประสานของ “สิงโตน้ำเงินคราม” เชลซี นั่นก็คือ โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ, จิอันฟรังโก้ โซล่า และ จิอันลูก้า วิอัลลี่ เป็นรุ่นบุกเบิกในยุคแรกๆ เลย แต่น่าจะมีแฟนบอลเพียงไม่กี่คนที่อาจนึกถึงชื่อของ คาร์บอเน่ รวมอยู่ด้วย เพราะอยู่ในรุ่นแรกด้วยเหมือนกัน หลังจากที่ย้ายไปซบ “นกเค้าแมว” เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ในปี 1996 ตามช่วงเวลาเดียวกับทั้ง 4 คนดังกล่าวเลย

หากจะว่าไปแล้ว คาร์บอเน่ ถือว่าเป็นนักเตะ “จอมพเนจร” ได้เหมือนกัน เพราะได้เก็บข้าวของย้ายทีมในช่วงตลอดเส้นทางอาชีพค้าแข้งเลย โดยเคยได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเตะฝีเท้าดีของศึกกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ช่วงทศวรรษ 90 ซึ่งเริ่มต้นอาชีพค้าแข้งจากการเป็นเด็กปั้นของ “กระทิงหิน” โตริโน่ ตั้งแต่ปี 1987 แต่ถูกปล่อยให้ เรจจิน่า, คาแซร์ตาน่า และ อัสโคลี่ ยืมตัวไปใช้งานเพื่อหาประสบการณ์แบบต่อเนื่อง ก่อนจะถูกดึงกลับมาแจ้งเกิดในทีมชุดใหญ่แบบเต็มตัวช่วงปี 1993 และได้ย้ายไปซบ นาโปลี ในปี 1994 หลังจากนั้นได้ย้ายไปโชว์ฝีเท้ากับ “งูใหญ่” อินเตอร์ มิลาน ทีมยักษ์ใหญ่ของเมืองมะกะโรนีในปี 1995

ทว่า คาร์บอเน่ กลับไม่ได้เจิดจรัสกับ อินเตอร์ มิลาน เหมือนอย่างที่วาดหวังเอาไว้ หลังจากที่มีปัญหาขัดแย้งกับ รอย ฮอดจ์สัน กุนซือ “งูใหญ่” ในเวลานั้น เพราะเห็นว่าเป็นกองหน้าที่มีความเร็วสูง จึงจับไปยืนเล่นในตำแหน่งที่ไม่ถนัด โดยขยับให้ไปสวมบทเป็นปีกริมเส้นนั่นเอง ก่อนจะตัดสินใจขอย้ายออกจากถิ่นจูเซ็ปเป้ เมียซซ่า ดีกว่า และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปค้าแข้งในถิ่นต่างแดนบนเกาะอังกฤษ หลังจากนั้นที่ตอบรับข้อเสนอของ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของเอเย่นต์ส่วนตัว ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักชื่อของทีมต้นสังกัดใหม่มาก่อนเลยเสียด้วยซ้ำ

"คาร์บอเน่"ของดีที่เกือบเลือนหายไปจากบอลอังกฤษ มุมสบายๆ
Benito Carbone, swfc.co.uk

“นกเค้าแมว” ได้เซ็นสัญญาคว้า คาร์บอเน่ เข้ามาเสริมทัพในปี 1996 ด้วยค่าตัว 3 ล้านปอนด์ แม้ว่าในช่วงฤดูกาลแรกจะไม่สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้เสียเท่าไรนัก แต่กลับมาเปรี้ยงปร้างในช่วงฤดูกาลที่ 2 หลังจากที่ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ได้ดึงตัว เปาโล ดิ คานิโอ กองหน้ารุ่นพี่จากชาติเดียวกันมาจาก “ม้าลายเขียวขาว” กลาสโกว์ เซลติก ในสกอตแลนด์เมื่อปี 1997 โดยทั้งสองคนสามารถจับคู่ล่าตาข่ายได้แบบคู่ขารู้ใจกันแบบเป็นปี่เป็นขลุ่ยจนถึงปี 1999 ซึ่งทั้งสองคนดังกล่าวต้องโบกมืออำลาถิ่นฮิลล์โบโร่ได้พร้อมกันเลย แต่มีจุดหมายปลายที่แตกต่างกัน หลังจากที่สร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักของแฟนบอลยุคทศวรรษ 90 ได้สำเร็จ

เนื่องจาก “นกเค้าแมว” ได้ตัดสินใจขาย ดิ คานิโอ ไปให้กับ “ขุนค้อน” เวสต์แฮม และปล่อย คาร์บอเน่ ย้ายซบ “สิงห์ผงาด” แอสตัน วิลล่า หลังจากที่อยู่รับใช้ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ เป็นเวลา 3 ปี โดยลงสนามไปทั้งหมด 96 นัด ยิงประตูได้ 25 ลูก ส่วนชีวิตค้าแข้งกับทีมต้นสังกัดใหม่ถือว่าไปได้สวยเหมือนกัน โดยเฉพาะการฝากผลงานซัด “แฮตทริก” เหมาคนเดียว 3 ประตูให้ทีมยิงแซงชนะ ลีดส์ ยูไนเต็ด 3-2 ในศึกเอฟเอ คัพ รอบ 5 และสามารถพาทีมตบเท้าผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศไปด้วย แต่สุดท้ายกลับพลาดท่า “สิงโตน้ำเงินคราม” เชลซี 0-1 จึงชวดชูถ้วยแชมป์ใบเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษไปแบบน่าเสียดาย

หลังจากนั้น แอสตัน วิลล่า ได้ตัดสินใจโละ คาร์บอเน่ ในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2000/2001 ทั้งๆ ที่เพิ่งย้ายมาโชว์ฝีเท้าได้เพียงปีเดียวเท่านั้น โดยตกเป็นข่าวกับหลายๆ สโมสรที่พร้อมแย่งตัวมาเสริมทัพ ไม่ว่าจะเป็น นาโปลี, เอฟเวอร์ตัน, โคเวนทรี, แบรดฟอร์ด รวมถึง 2 ทีมลูกหนังในบ้านเกิด นั่นก็คือ เปรูจา และ “ม่วงมหากาฬ” ฟิออเรนติน่า ซึ่งอยากคว้ามาเป็นตัวแทนของ รุย คอสต้า ดาวเตะชื่อดังระดับโลกที่พร้อมย้ายทีมได้เหมือนกัน

แต่สุดท้ายกองหน้าร่างเล็กกลับเลือกย้ายซบ แบรดฟอร์ด แบบไม่มีค่าตัว แม้จะไม่สามารถพาทีมรอดพ้นจากตกชั้นในฤดูกาล 2000/2001 ทว่า คาร์บอเน่ ยังคงอยู่ค้าแข้งกับทีมเดิมต่อไป เพื่อหวังช่วยให้เลื่อนชั้นกลับคืนลีกสูงสุดเมืองผู้ดีอีกครั้ง ก่อนจะถูกปล่อยให้ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ กับ มิดเดิ้ลสโบรช์ ยืมตัวไปใช้งานในปี 2002 เพราะเป็นช่วงที่ต้นสังกัดเริ่มประสบปัญหาเรื่องการเงิน ทำให้ เจฟฟรี่ย์ ริชมอนด์ ประธานสโมสรแห่งถิ่นวัลเลย์ พาเหรด ต้องเอ่ยปากบอกว่าไม่สามารถแบกรับค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 40,000 ปอนด์ได้อีกต่อไป

"คาร์บอเน่"ของดีที่เกือบเลือนหายไปจากบอลอังกฤษ มุมสบายๆ
Benito Carbone, thescore.com

ทำให้ คาร์บอเน่ ตัดสินใจไม่รับค่าเหนื่อยที่ แบรดฟอร์ด ค้างจ่ายเอาไว้เป็นจำนวนทั้งหมด 3.2 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้ใจแฟนบอลเป็นอย่างมาก เพราะสามารถช่วยต่อลมหายใจให้ทีมได้บ้าง ก่อนจะโบกมืออำลาเกาะอังกฤษที่เคยอยู่โชว์ฝีเท้ามานานถึง 6 ปี เพื่อย้ายกลับไปค้าแข้งในถิ่นบ้านเกิดกับ โคโม่ ในปี 2002 และพเนจรย้ายไปเล่นให้อีกหลายทีม ไม่ว่าจะเป็น ปาร์ม่า, คาตันซาโร่, วิเซนซ่า และเคยย้ายไปวาดลวดลายกับ ซิดนีย์ เอฟซี ในออสเตรเลียเมื่อปี 2006 อีกด้วย

ก่อนจะย้ายไปร่วมทัพ ปาเวีย ทีมเล็กๆ ในอิตาลี เมื่อปี 2007 ซึ่งเป็นทีมสุดท้ายในอาชีพค้าแข้ง เพราะได้ตัดสินใจ “แขวนสตั๊ด” เลิกเล่นฟุตบอลในปี 2010 นั่นเอง แต่ในดวงใจของ คาร์บอเน่ ยังคงรู้สึกผูกพันธ์กับวงการลูกหนังอังกฤษอยู่เสมอ เพราะเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า สิ่งที่มีค่ามากที่สุดของเกมฟาดแข้งในเมืองผู้ดีคือ “แฟนบอล” เพราะทุกคนพร้อมที่จะยืนเคียงข้างนักเตะในทีมโปรดอยู่ทุกเมื่อ แม้ในยามที่ต้องพบกับความพ่ายแพ้ก็ตาม

“ถ้าถามผมว่าฟุตบอลอังกฤษมีอะไรดี ผมกล้าพูดได้เลยว่าสิ่งที่มีค่าต่อฟุตบอลอังกฤษมากที่สุดก็คือ แฟนบอล ผมรักฟุตบอลอังกฤษ เพราะผมรักแฟนบอลเหล่านี้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและแพสชั่น ขอเพียงแค่คุณเล่นอย่างทุ่มเทด้วยหัวใจเกินร้อย แม้ทีมจะต้องพบกับความพ่ายแพ้ แต่พวกเขาจะไม่ตำหนิคุณเลย”

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ คาร์บอเน่ ซึ่งเคยฝากผลงานในยุคที่นักเตะต่างชาติเริ่มย้ายมาโชว์ฝีเท้าบนเกาะอังกฤษ แม้จะเป็นหนึ่งในพ่อค้าแข้งระดับคุณภาพจากอิตาลี แต่เหมือนจะถูกลืมจนเกือบเลือนหายไปตามกาลเวลาเสียแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -

ที่นิยมมากที่สุด